เกี่ยวกับการจัดงาน

การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 21


หลักการและเหตุผล

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรเขตร้อนที่สำคัญของโลก ทั้งบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปสู่ตลาดเอเชียและโลก วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร เพื่อประโยชน์ในการลดความสูญเสียในระหว่างการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การเก็บรักษา และการวางจำหน่าย ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาหาวิธีการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรเพื่อพัฒนาศักยภาพและขยายความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมไปถึงการคำนึงถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารสำหรับทำการเกษตรที่ยั่งยืน ในการนี้ต้องอาศัยการถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากการค้นคว้าและวิจัยสู่ผู้ผลิต การจัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวขึ้นเป็นประจำทุกปี นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่เปิดโอกาสให้ นักวิจัย นักวิชาการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมเผยแพร่ผลงานการวิจัยสู่สาธารณะ เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา และประสบการณ์ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายปฏิบัติการวิจัย อันจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

ในปีพุทธศักราช 2567 นี้ ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานร่วม (Consortium) จากมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับสาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเกียรติให้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัด “การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ครั้งที่ 21 (the 21st National Postharvest Technology Conference: NPHT21)” ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “ความท้าทายในการแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน” โดยจะเป็นการเปิดเวทีการประชุมวิชาการ เพื่อให้นักวิจัย และผู้ที่สนใจ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งในด้านพืชสวน พืชไร่ และอาหาร ได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา และประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิทยาการทางด้านนี้ต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ จากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เสนอผลงาน แลกเปลี่ยน ปัญหา อุปสรรค และเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
  2. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในสายงานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ได้นำข้อมูลความรู้ไปประยุกต์ใช้ทั้งด้านงานวิจัยและปฏิบัติงานจริง ถ่ายทอดนวัตกรรมด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพสู่ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
  3. เพื่อเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจจากต่างสายงานให้ได้รับรู้ข้อมูลความรู้ทางด้านนี้ อันอาจก่อให้เกิดการขยายขอบเขตงานวิจัยร่วมกันให้กว้างขวางขึ้น
  4. เพื่อสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของไทยต่อไปในอนาคต

รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการฯ แบ่งออกเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. การเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย (Oral presentations)
  2. การเสนอผลงานวิจัยภาคนิทัศน์ (Poster presentations)
  3. การอภิปรายและบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

หัวข้อการประชุมวิชาการ

  1. Postharvest Safety
  2. Postharvest Biology
  3. Postharvest Logistics
  4. Postharvest Machinery

โดยเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลสดที่ยังไม่ได้รับการแปรรูป หรือผ่านกระบวนการแปรรูป ตัดแต่งเพียงเล็กน้อย (Minimal Processed Produce, Fresh-Cut)