การส่งผลงานวิจัย

การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 21


การส่งบทคัดย่อ

ทางคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 21 กำหนดรูปแบบการจัดส่งบทคัดย่อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดยท่านสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานพร้อมทั้งส่งบทคัดย่อแบบออนไลน์ผ่านระบบของผู้จัดการประชุม

คำแนะนำการนำเสนอในภาคบรรยาย

  1. กำหนดเวลาที่ใช้สําหรับนําเสนอผลงานเรื่องละ 12 นาที และมีเวลาสําหรับการซักถามอีก 3 นาทีรวม 15 นาที
  2. ให้จัดส่งไฟล์ MS PowerPoint พร้อมทดสอบการแสดงผลในคอมพิวเตอร์ให้ฝ่ายจัดการประชุมฯ ก่อนนำเสนอผลงาน 1 วัน
  3. อุปกรณ์ประกอบการนำเสนอ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก พร้อมเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ผู้จัดงานเตรียมไว้ให้

คำแนะนำสำหรับผู้เสนอผลงานภาคโปสเตอร์

  1. โปสเตอร์มีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร และสูง 120 เซนติเมตร
  2. สามารถนำเสนอได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  3. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการที่สมบูรณ์ ขอความกรุณาผู้นำเสนอใส่รูปของผู้นำเสนอไว้ที่มุมขวาด้านบนของโปสเตอร์และยืนประจำที่โปสเตอร์ของท่านในช่วงเวลาที่กำหนด
  4. กรณีที่ผู้นำเสนอผลงานไม่อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด ผู้จัดงานสัมมนาฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการตีพิมพ์เรื่องเต็มในวารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ฉบับพิเศษ
  5. เวลาการติดโปสเตอร์ ช่วงเช้าวันที่ 4 กรกฎาคม ไม่มีติดโปสเตอร์ล่วงหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม

การส่งเรื่องเต็ม

ผู้เสนอผลงานต้องส่งไฟล์ต้นฉบับเรื่องเต็มโดยการอัพโหลดไฟล์ (word และ pdf) ผ่านระบบของผู้จัดการประชุมวิชาการฯ ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เท่านั้น

ดาวน์โหลด

ขอบเขตงานวิจัย แยกตามกลุ่ม

Postharvest Safety

มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่และพืชสวน แก้ไขปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวตลอดสายโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวจนกระทั่งการส่งออกและบริโภค ศึกษาหาสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาด้านความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว สารตกค้างในผลิตผลเกษตร การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยและเป็นที่ยอมรับ

  • เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ศึกษากระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย การปนเปื้อน และอันตรายที่อาจจะปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิตให้อยู่ในระดับ ปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค
  • เทคโนโลยีการยืดอายุผลิตผลทางเกษตรด้วยระบบสายโซ่ความเย็น (Cold Chain) ทดแทนการใช้สารเคมียืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว
  • เทคโนโลยีการใช้เทคนิคคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency) เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีในการป้องกัน และกำจัดโรคและแมลงหลังการเก็บเกี่ยว
  • เทคโนโลยีการใช้เทคนิคเนียร์อินฟาเรดสเปกโตรสโกปี (Near Infrared Spectroscopy) ในการประเมิน คุณภาพผลิตผลโดยไม่ทำลายผล ใช้หาสารพิษและเชื้อโรคหลังการเก็บเกี่ยวที่ตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผลเกษตร เป็นต้น
  • เทคโนโลยีการใช้เทคนิคโอโซน (Ozone Technology) เพื่อลดสารพิษตกค้างในผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว
  • เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ Modified Atmosphere Packaging (MAP) ทดแทนการใช้สารเคมี ในการยืดอายุการเก็บรักษา

Postharvest Biological Mechanism

ชะลอการอ่อนนุ่มของผลไม้ได้ด้วยการยับยั้งการสร้างเอทิลีน ยับยั้งการทำงานของเอทิลีน การแสดงออกของยีนควบคุมการสร้างและการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ตลอดจนปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีการสร้างเอทิลีนหรือเอนไซม์ควบคุมความอ่อนนุ่มให้ลดลง จัดการให้ผลิตผลมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวช้าลง และสามารถยืดอายุออกไปได้นาน ส่งไปขายยังต่างประเทศได้ไกลออกไป

ตัวอย่างการวิจัย

สับปะรดกลุ่มพันธุ์ควีน เช่น พันธุ์ตราดสีทอง ภูเก็ต สวี และภูแล เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ เกิดอาการไส้สีน้ำตาล ไม่สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้ แตกต่างจากพันธุ์ปัตตาเวียหรือศรีราชา กลไกการเกิดอาการดังกล่าวยังไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจนในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้น เมื่อสับปะรดได้รับอุณหภูมิต่ำ เยื่อหุ้มออร์กาแนลต่างๆของเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เกิดการกระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระขึ้นมากน้อยเพียงใด สับปะรดมีกลไกป้องกันผลเสียจากอนุมูลอิสระเหล่านี้อย่างไร มีอะไรบ้างที่ถูกกระตุ้นให้แสดงออกมากขึ้นหรือลดลง เมื่อสับปะรดได้รับอุณหภูมิต่ำ สิ่งเหล่านี้มีบทบาทต่อกลไกให้เซลล์เสื่อมสภาพและก่อให้เกิดอาการไส้สีน้ำตาลได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่งได้แก่ ดอกไม้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้ไปทั่วโลกมากในอันดับต้นๆ แต่ดอกไม้ชนิดอื่นประเทศไทยส่งออกน้อยมากทั้งที่มีความต้องการสูง เช่น ดอกบัวหลวง ปัจจุบันยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากกลีบดอกเสียสภาพเร็วและไม่สามารถพัฒนาการบานได้ ทั้งนี้อาจเกิดหลายสาเหตุ เช่น ท่อลำเลียงน้ำ เกิดการอุดตันทำให้ดูดน้ำได้ไม่เพียงพอกับการคายน้ำ ดอกบัวหลวงเกิดสภาพขาดน้ำ อาจทำให้มีการสังเคราะห์เอทิลีนเพิ่มขึ้น เร่งอาการขอบกลีบดำและกลีบดอกซีดจางอาจเกิดเนื่องจากขาดอาหารสะสมภายในดอก หรือเก็บเกี่ยวดอกบัวหลวงในระยะที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิจัยศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดอาการขอบกลีบดำ และสีกลีบดอกซีดจาง โดยศึกษาถึงการอุดตันของท่อลำเลียงน้ำ และการคายน้ำของดอกบัวหลวง ศึกษาถึงบทบาทของฮอร์โมนพืช เช่น เอทิลีน จิบเบอเรลลิน ไซโตไคนิน และออกซินต่อคุณภาพของดอกบัวหลวงหลังเก็บเกี่ยว และศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์โบไฮเดรตในดอกบัวหลวงระหว่างการพัฒนาดอกและระหว่างการปักแจกัน รวมถึงศึกษาระยะเก็บเกี่ยวดอกบัวหลวงที่เหมาะสมและพัฒนาการบานได้ระหว่างการปักแจกัน

Postharvest Logistics

งานวิจัยปัจจุบันมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลิตผลสดทางการเกษตร เช่น เงาะ มะม่วง มะละกอ กล้วยไม้ และข้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ

ตัวอย่างงานวิจัยที่ทำการวิจัย

ระบบการเก็บรักษาเงาะ

  • การยืดอายุเงาะภายใต้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศ
  • การยืดอายุเงาะภายใต้สภาพบรรยากาศควบคุม
  • การใช้สารส่งเสริมคุณภาพเพื่อลดการคายน้ำ และรักษาสภาพขนเงาะ
  • การศึกษาโซ่อุปทานและระบบการขนส่งเงาะเพื่อการส่งออก

ระบบการเก็บรักษามะละกอ

  • การยืดอายุผลมะละกอดิบและสุกหลังการเก็บเกี่ยว
  • ระบบการเก็บรักษาเส้นมะละกอดิบ
  • การเก็บรักษามะละกอสุกตัดแต่งสดพร้อมบริโภค

ระบบการเก็บรักษากล้วยไม้

  • การใช้น้ำยาส่งเสริมคุณภาพลดการสูญเสียของกล้วยไม้หลังตัดดอก
  • การยืดอายุการปักแจกันไม้ตัดดอก และกล้วยไม้

ระบบการเก็บรักษามะม่วง

  • การยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงภายใต้สภาวะดัดแปลงบรรยากาศ
  • การยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงโดยใช้สารเคลือบ
  • การยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงโดยใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ

Postharvest Machinery

เน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาและหรือปรับปรุงเครื่องจักรกลหลังการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่มีความสำคัญต่อประเทศ โดยเน้นพืชหลักสำหรับการวิจัย คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ตลอดจนไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้งานได้จริงและเหมาะสมในทางปฏิบัติ

ผลผลิตของงานวิจัย

  • การถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่ผู้ประกอบการผลิตเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์
  • จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับผลงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ หรือสิ่งประดิษฐ์
  • การเผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการและการประชุมวิชาการในระดับชาติและหรือนานาชาติ
  • การบริการวิชาการแก่ผู้ใช้ประโยชน์