เกี่ยวกับการจัดงาน

การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 22


หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันประเทศไทยจัดเป็นผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก โดยผลิตผลที่มีการส่งออกในปริมาณมากและมีรายได้เข้าสู่ประเทศ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้และผัก รวมถึงกล้วยไม้ตัดดอกอีกด้วย ซึ่งการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพเพื่อแข่งขันในตลาดโลกนั้น วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีบทบาทสำคัญในการลดความสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการพัฒนาคุณภาพการผลิตในระหว่างการเก็บเกี่ยว การขนส่ง ตลอดจนการเก็บรักษา และยังมีส่วนสำคัญในการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรอีกด้วย เพื่อรักษาศักยภาพการเป็นประเทศผู้ค้าผลผลิตเกษตรที่สำคัญไว้ ในการนี้ต้องอาศัยการถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากการค้นคว้าและวิจัยสู่ผู้ผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่ต้องมีการสื่อสารถึงปัญหาและความต้องการของผู้บริโภคให้ถึงนักวิจัยอย่างเป็นระบบ การจัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวขึ้นเป็นประจำทุกปี นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยสู่สาธารณะ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหาและประสบการณ์ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายปฏิบัติการวิจัย เพื่อร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศอันจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2568 นี้ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หน่วยงานร่วมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยร่วมของ ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว จึงได้จัดงาน “ประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ครั้งที่ 22” (Postharvest Technology Conference 2025) ซึ่งเป็นเวทีหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งทางด้านพืชสวน พืชไร่ ได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงปัญหาและประสบการณ์อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการทางด้านนี้ต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ จากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เสนอผลงาน แลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
  2. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในสายงานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ได้นำข้อมูลความรู้ไปประยุกต์ใช้ทั้งด้านงานวิจัยและปฏิบัติงานจริง
  3. เพื่อเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจจากต่างสายงานให้ได้รับรู้ข้อมูลความรู้ทางด้านนี้ อันอาจก่อให้เกิดการขยายขอบเขตงานวิจัยร่วมกันให้กว้างขวางขึ้น
  4. เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพสู่ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
  5. เพื่อเป็นเวทีสำหรับพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา อุปสรรค และประสบการณ์ทางด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
  6. เพื่อสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของไทยต่อไปในอนาคต

หัวข้อการประชุมวิชาการ

หัวข้อการประชุมวิชาการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. Postharvest Safety
  2. Postharvest Biology
  3. Postharvest Logistics
  4. Postharvest Machinery

โดยจำแนกตามประเภทของการผลิต คือ พืชสวน พืชไร่ ซึ่งต้องเป็นผลิตผลสดที่ยังไม่ได้ทำการแปรรูป ผลิตผลสดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การยืดอายุ การเก็บรักษา ทั้งนี้ไม่รวมผลไม้ตากแห้ง ผัก ผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์แปรรูป

รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ

การประชุมวิชาการฯ แบ่งออกเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย
  2. การนำเสนอผลงานวิจัยภาคนิทัศน์
  3. การอภิปรายและบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในประเทศและต่างประเทศ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 22  นี้ จักเป็นเวทีวิชาการที่เป็นแหล่งบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในสาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งคณาจารย์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจในภาคเอกชน จะได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของงานวิจัยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์จริงต่อประเทศชาติทั้งการผลิตอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยและเพิ่มพูนรายได้  รวมทั้งเป็นเวทีวิชาการที่นักวิจัยจะได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลงานวิจัยเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือ  ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาการวิจัยในสาขาให้เห็นผลเด่นชัดขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเตรียมผลผลิตทางการเกษตรของไทยให้พร้อมสำหรับการแข่งขันเชิงรุกในตลาดโลก