หลักการและเหตุผล
ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานร่วม (Consortium) จากมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับศูนย์วิจัยเครื่องจักรกลเกษตรและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้าง และพัฒนาคุณภาพของงานวิชาการ โดยเฉพาะงานวิจัยในด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งสามารถนำไปช่วยในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ตลอดจนการจัดการที่ดีเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนต่างๆ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีในขอบข่ายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จึงจัดให้มีการสัมมนาวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นประจำทุกปีมาโดยตลอด รวม 19 ครั้ง
และในปี พ.ศ. 2566 นี้ จะจัดการประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ทั้งนี้โดยมีศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว: หน่วยงานร่วมมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน ศูนย์วิจัยเครื่องจักรกลเกษตรและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมให้การสนับสนุน
วัตถุประสงค์
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการ จากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เสนอผลงาน แลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นประโยชน์อย่างครบวงจร
- เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพสู่ภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้อง
รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ
การประชุมวิชาการฯ แบ่งออกเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- การเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย (Oral presentations)
- การเสนอผลงานวิจัยภาคนิทัศน์ (Poster presentations)
- การอภิปรายและบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
หัวข้อการประชุมวิชาการ
- Postharvest Safety
- Postharvest Biology
- Postharvest Logistics
- Postharvest Machinery
โดยเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลสดที่ยังไม่ได้รับการแปรรูป หรือผ่านกระบวนการแปรรูป ตัดแต่งเพียงเล็กน้อย (Minimal Processed Produce, Fresh-Cut)
ทั้งนี้ไม่รวมหัวข้อที่เกี่ยวกับการผลิตผลตากแห้ง แช่แข็ง บรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์แปรรูป และหัวข้อด้านประมง ปศุสัตว์